ปวดหัวไมเกรน
ผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มักเป็นในช่วงอายุ 10 ถึง 40 ปี และอาการมักหายไปในช่วงหลังจากอายุ 50 ปี โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
ไมเกรนเป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับสมอง เส้นเลือดรอบๆสมอง และศีรษะ สมองอาจมีภาวะตอบสนองไวเกินต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยกระตุ้น เช่น แสงหรือกลิ่น โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีซึ่งจะไปรบกวนเส้นประสาทรับความรู้สึกปวดบริเวณศีรษะ ทำให้เส้นเลือดขยายตัวและปล่อยสารเคมีที่กระตุ้นเส้นประสาทออกมามากขึ้น ทั้งๆที่พันธุกรรมดูเหมือนมีส่วนในการเกิดไมเกรน แต่กลับมีการค้นพบสาเหตุทางพันธุกรรมที่ชัดเจนแค่เพียงชนิดเดียวของไมเกรนเท่านั้นซึ่งเป็นชนิดที่หายาก เรียกว่า แฟมิเลียล เฮมีเพลจิค ไมเกรน
ถึงแม้เราจะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคไมเกรน แต่เราก็ทราบดีว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคได้ – คือพฤติกรรมและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มปวดศีรษะไมเกรน
ปัจจัยกระตุ้นไมเกรน
- ตัวกระตุ้นอันดับที่หนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน 2 ใน 3 ของผู้หญิงที่เป็นไมเกรนมักมีอาการปวดศีรษะในช่วงรอบเดือนไมเกรนในผู้หญิงมักมีอาการแย่ลงในช่วงเข้าวัยแรกรุ่น และมักจะหายไปหลังหมดประจำเดือน
- ความเครียด ความหิว
- การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนหลับ
- การเปลี่ยนแปลงความดันรอบตัว
- อาหาร เช่น แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์แดงและเบียร์ บุหรี่ เนยแข็งที่มีอายุนานแล้ว ช็อกโกแลต อาหารหมักดอง ผงชูรส สารแอสพาร์เทม คาเฟอีน
อาการปวดศีรษะไมเกรน
มักจะเป็นรุนแรงและนานกว่าอาการปวดศีรษะจาก 'ความเครียด' ทั่วไป ลักษณะอาการปวด มักปวดเป็นบริเวณจำเพาะและมักจะปวดหนักรอบดวงตาเพียงข้างเดียว อาการปวดศีรษะที่รุนแรงและเป็นที่ศีรษะข้างเดียวนั้นมักจะมาจากโรคไมเกรน อาการปวดศีรษะไมเกรนมักสัมพันธ์กับอาการคลื่นไส้อาเจียน รวมทั้งภาวะไวเกินต่อแสงและเสียง อาการปวดมักจะแย่ลงเมื่อขยับตัวหรือเอียงตัวไปข้างหน้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนมักจะนอนนิ่งๆในห้องที่มืดและเงียบ รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นทุกชนิดอีกด้วย
อาการเตือนก่อนที่จะเริ่มปวดศีรษะ
อาการเตือน หรือที่เรียกว่าออร่านั้น เป็นอาการทางสายตาที่รวมถึงการมองเห็นแสงวูบวับ มองเห็นเส้นที่มีสีสันสดใส หรือเห็นภาพซ้อนก่อนที่จะเริ่มปวดศีรษะ ในช่วงนั้นผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกอ่อนแรงหรือพูดช้าลง อาการเหล่านี้มักหายไปเองใน 15 ถึง 30 นาที ตามมาด้วยอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง และบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรงร่วมด้วยได้
ปวดศีรษะไมเกรนกับปวดศีรษะจากการหยุดกินยา
ไม่ควรสับสนระหว่างอาการปวดศีรษะไมเกรนกับอาการปวดศีรษะที่เป็นผลกระทบจากการหยุดกินยาบางอย่าง อาการปวดศีรษะที่เป็นผลกระทบหลังจากหยุดยานั้น อาจเป็นได้ในผู้ที่ใช้ยาแอสไพริน หรือยาแก้ปวดพื้นฐานบางชนิด (เช่นพาราเซตตามอล หรือไอบูโพรเฟน) สำหรับอาการปวดศีรษะมากกว่า 15 วันต่อเดือน และสามารถเกิดได้ในผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดประเภทสารเสพติด (เช่น codeine) ยาที่มีส่วนผสมของยาแก้ปวดมากกว่าหนึ่งอย่าง หรือยากลุ่ม “triptan” (เช่น almotriptan, rizatripan, sumatriptan) ) มากกว่า 10 วันต่อเดือน บางครั้งอาการปวดศีรษะเหล่านี้อาจเรียกว่า อาการปวดศีรษะที่เกิดจากยา ซึ่งยาเหล่านี้มักจะมีผลดีในระยะสั้น แต่หลังจากหยุดยาอาการปวดจะกลับมาใหม่อย่างรุนแรงกว่าเดิม ดังนั้นหากคุณหายามากินเพื่อแก้อาการปวด วงจรที่ย่ำแย่นี้ก็มักจะตามมาเสมอ สุดท้ายก็จะจบลงที่อาการปวดศีรษะตื้อๆ ลักษณะเป็นทั้งสองข้างของศีรษะ ซึ่งมักจะปวดมากขึ้นเมื่อยาหมดฤทธิ์ หากคุณคิดว่าคุณมีอาการปวดศีรษะที่เป็นผลกระทบหลังจากหยุดยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุด
การศึกษาระยะยาวชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นด้วย แต่ไมเกรนมักเป็นในคนอายุน้อย ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้น้อยเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาหาความสัมพันธ์ของโรคไมเกรนกับโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มเติมต่อไป
Credit: medicthai.com
สอบถามเพิ่มเติมที่ร้านขายยา
— ที่ ร้านยา บางบอน 5 เภสัช