วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รับมือ 5 โรคฤดูหนาว


ฤดูหนาวอาจฟังดูเย็นสบาย แต่ความจริงก็คือยังมีเชื้อโรคที่อาจเข้ามาทำลายสุขภาพของเรา โดยเฉพาะปอดบวม หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และท้องร่วงที่พบได้บ่อย แถมยังมีศัตรูตลอดกาล อย่าง "หวัด" เข้ามาอีกด้วย มาทำความรู้จักกับวิธีป้องกันก่อนที่หนาวนี้จะทำร้ายเราถึงขั้วหัวใจ
กรมอุตุนิยมวิทยาเผยว่า ปีนี้เมืองไทยเราจะหนาวที่สุดในรอบ 30 ปี แต่ภัยที่มากับความหนาวไม่ใช่แค่ลมเย็นยะเยือก แต่ยังรวมถึงเชื้อโรคที่กระจายตัวพร้อม ๆ กับลมหนาวอีกด้วย และนี่คือโรคที่กรมควบคุมโรคแนะนำให้คนไทยดูแลตัวเองดังนี้
1.ปอดบวมอีกหนึ่งโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในปี 2552 อยู่ที่มากกว่า 239.000 คน ทำให้คนไทยเสียชีวิตถึง 14,542 คน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2543-2552) และนับเป็นโรคที่อันตรายโดยเฉพาะกับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วพบเด็กป่วยมากกว่า 30,000 คน เสียชีวิต 17 คน
โรคปอดบวมนั้นอาจเกิดจากอาการแทรกซ้อนของหวัด หรืออาจเป็นการติดเชื้อปอดบวมโดยตรง มีระยะเวลาฟักตัว 1-3 วัน หากมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบ หรือหายใจแรง ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด่วน
วิธีป้องกัน คล้ายกับโรคหวัดคือล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย และไม่อยู่ใกล้ผู้ป่วย
2.หัดความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งก็คือเราอาจคิดกันว่า "เด็ก ๆ ต้องออกหัดทุกคน" ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย โรคหัดเกิดจากไวรัสหัดซึ่งติดต่อกันง่ายมาก โดยผ่านการไอ จามรดกัน โดยตรง แม้ว่าจะพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็ก แต่กับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็นหัดมาก่อน หรือไม่ได้ฉีดวัคซีนก็อาจเป็นหัดได้
โรคหัดมีระยะฟักตัว 8-12 วัน หลังจากนั้น จะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ผื่นขึ้นกระจายไปทั่ว และจางหายเองใน 14 วัน บางรายอาจมีปอดบวม ท้องร่วง ช่องหูอักเสบ หรือสมออักเสบร่วมด้วย จนทำให้เสียชีวิตได้
วิธีป้องกัน ฉีดวัคซีน เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนหัด 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตอนอายุ 9-12 เดือน ส่วนครั้งที่ 2 อายุ 6-7 ขวบ

3.หัดเยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่แพร่เชื้อได้ง่ายมากผ่านการสัมผัสเสมหะน้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อ หากสตรีมีครรภ์ติดเชื้อหัดเยอรมันภายใน 3 เดือนแรก ของการตั้งครรภ์ มีโอกาสสูงที่ทารกจะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อย่างเช่น หูหนวก ปัญญาอ่อน
อาการของหัดเยอรมันอาจทำให้มีไข้ และออกผื่นหัด ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอื่น บางรายมีโรคแทรกซ้อน อย่างเช่น ข้ออักเสบ สมองอักเสบ ในเด็กเล็กจะมีอาการเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้วอาการอาจจะมีอยู่ ประมาณ 1-5 วัน จึงควรหยุดงานประมาณ หนึ่งสัปดาห์ด้วย
วิธีป้องกัน สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หัดเยอรมัน อาจขอฉีดวัคซีนรวม MMR ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม
4.อีสุกอีใสติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง หรือการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก และน้ำลายเข้าไปเช่นเดียวกับหัด หรือจากการสัมผัสตุ่มพองใสบนผิวหนังของผู้ป่วย และการใช้ภาชนะ หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย
อาการเริ่มต้นจากมีไข้ต่ำ ๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ ใบหน้า และตามลำตัว ทีแรกจะเป็นตุ่มแดง ๆ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสในวันที่ 2-3 นับจากวันที่เริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง แล้วเริ่มแห้งตกสะเก็ด โดยทั่วไปจะไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่บางคนอาจมีอาการทางสมองและปอดบวมได้
วิธีป้องกัน เหมือนกับไข้หวัดและหัด คือไม่เข้าใกล้ผู้ป่วย
5.ท้องร่วงอาการท้องร่วงในฤดูหนาวมักเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภัยน้ำท่วมในปีนี้ โรคท้องร่วงจึงเป็นอีกภัยหนึ่งสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน นอกจากนี้ อาจติดต่อผ่านทางน้ำมูกหรือน้ำลาย ไม่เฉพาะทางอาหารเท่านั้น ผู้ป่วยจะอุจจาระเหลวหรือถึงชั้นเป็นน้ำบ่อยครั้ง บางรายอาจคลื่นเหียนอาเจียน มีไข้ขึ้น มีเลือด เมือก หรืออาหารที่ไม่ย่อยปนออกมากับอุจจาระ สำหรับคนที่ท้องร่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือถ่ายเป็นน้ำติดต่อกันสามครั้ง แล้วยังไม่ได้ดื่มน้ำเข้าไปทดแทน อาจมีอาการขาดน้ำปรากฏร่วมด้วย อย่างเช่น ปัสสาวะเป็นสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หัวใจเต้นเร็วและถี่ ปวดศีรษะ ผิวแห้ง มึนงง ในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์ด่วน
Credit: Lisa Magazine

สอบถามเพิ่มเติมที่ร้านขายยา
 — ที่ ร้านยา บางบอน 5 เภสัช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น